ในปัจจุบัน ถึงแม้ลีกอเมริกันฟุตบอลอันดับหนึ่งของโลกอย่าง NFL จะมีอัตราส่วนของผู้เล่นผิวดำ หรือชาวแอฟริกัน-อเมริกัน มากถึง 70% ก็ตามแต่จากเหตุการณ์ “คุกเข่าสะเทือนโลก” เรียกร้องสิทธิเพื่อคนผิวดำของ โคลิน เคเปอร์นิก เมื่อปี 2017 ที่ส่งผลให้เขากลายเป็นผู้เล่นไร้สังกัดตราบถึงทุกวันนี้ ก็น่าจะเป็นบทพิสูจน์ได้ว่าเรื่องสีผิวยังคงเป็นเรื่อง “อ่อนไหว” สำหรับที่แห่งนี้

นอกจากนั้น จำนวนของหัวหน้าผู้ฝึกสอน หรือเฮดโค้ชใน NFL ก็ดูจะน้อยนิดอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งๆที่จำนวนผู้เล่นผิวดำมีมากกว่า แต่เฮดโค้ชผิวดำกลับมีจำนวนน้อยกว่าผิวขาวเกือบสิบเท่าตัว (10 ปีที่ผ่านมา จำนวนเฮดโค้ชผิวดำเฉลี่ยอยู่ที่ 2-6 คน ในขณะที่เฮดโค้ชผิวขาวเฉลี่ยอยู่ที่ 24-28 คน) ถึงขั้นที่ต้องมี “กฎรูนีย์” (Rooney Rule) ที่บังคับให้แต่ละทีมต้องเรียกคนผิวดำ รวมถึงชนกลุ่มอื่นๆที่ไม่ใช่ผิวขาวมาสัมภาษณ์งานในตำแหน่งเฮดโค้ชก่อนเมื่อมีตำแหน่งว่างเลยทีเดียว
ทั้งๆที่ในตอนนี้ คำว่า Black Lives Matter กำลังเป็นกระแสที่ผู้คนในสังคมให้ความสนใจ และพยายามเรียกร้องอย่างจริงจังก็ตาม ดังนั้น ถ้าย้อนกลับไปเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว ในยุคที่การเหยียดผิวยังเป็นเรื่องปกติธรรมดา คนผิวดำโดนคนขาวกดขี่ข่มเหงเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปจนชินตา.. คิดว่าสถานการณ์ใน NFL จะเป็นแบบไหน?

ไม่ต้องบอกใบ้ ทุกคนก็คงเดาออกว่าในยุคสมัยดังกล่าว NFL นั้นไม่ต่างอะไรจาก “นรก” สำหรับคนผิวดำ ทว่าไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ท่ามกลางโลกแห่งการเหยียด กลับมีชายผิวดำคนหนึ่งกล้าที่จะยืนหยัดต่อสู้ และที่สำคัญ เขาได้จารึกประวัติศาสตร์การเป็นควอเตอร์แบ็ก รวมถึงเฮดโค้ชผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์ NFL เรียกได้ว่า สิ่งที่เขาทำเป็นการกรุยทางที่นักอเมริกันฟุตบอลผิวดำยุคหลังต้องขอบคุณ
เวลาที่ล่วงเลยไปกว่าศตวรรษอาจทำให้ผู้คนหลงลืมชื่อของเขาไป ครั้งนี้ Main Stand จึงอยากหยิบเรื่องราวของเขามาบอกเล่าให้ทุกคนได้รู้ถึงความกล้าหาญและจิตใจสุภาพบุรุษของชายที่ชื่อว่า ฟริตซ์ พอลลาร์ด
ติดตามเรื่องราวของเขาได้ที่นี่
ใช้ความสามารถชนะใจในเกมคนขาว
ฟริตซ์ พอลลาร์ด ลืมตาดูโลกในปี 1894 ณ เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ในครอบครัวที่มีพรสวรรค์นักกีฬา เนื่องจากคุณพ่อของเขาที่เป็นผู้อพยพมาจากประเทศอินเดีย เคยสร้างชื่อในฐานะนักมวยระดับแชมป์ของรัฐในสมัยที่สงครามกลางเมือง หรือ Civil War กำลังคุกรุ่น
ถึงแม้ ฟริตซ์ จะเป็นลูกชายคนที่ 7 จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 8 คน แต่การเป็นอยู่ของเขาก็ไม่ได้ลำบากขัดสน เพราะพ่อของ ฟริตซ์ เป็นนักธุรกิจท้องถิ่นที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ ส่วนคุณแม่เป็นช่างเย็บผ้าฝีมือดี

ดังนั้น ชีวิตของเด็กหนุ่ม ฟริตซ์ พอลลาร์ด จึงมีอุปสรรคเพียงอย่างเดียว นั่นคือ “การเหยียดผิว” แต่เพียงเท่านี้มันก็หนักหนาสาหัสมากแล้ว เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวการเหยียดสีผิวยังเป็นเรื่องที่เห็นได้จนชินตาในสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนดำจะเดินอยู่ริมถนน แล้วอยู่ๆจะโดนกลุ่มคนขาวเข้ารุมทำร้ายร่างกายโดยไม่มีเหตุผล
การที่ครอบครัวของ ฟริตซ์ เป็นครอบครัวผิวดำเพียงครอบครัวเดียวในละแวกบ้าน เด็กหนุ่มจึงหนีไม่พ้นการถูกกลั่นแกล้งแทบทุกครั้งเมื่อออกไปเล่นกีฬากับพี่น้องในสวนสาธารณะ
ฟริตซ์ เริ่มเล่นเบสบอลมาตั้งแต่จำความได้ และพรสวรรค์ของเขาก็ถือว่าอยู่ในระดับสูงชนิดหาตัวจับได้ยาก โดยในตอนที่เขาเรียนมัธยมที่ Albert G. Lane Manual Training High School ฟริตซ์ คือแชมป์การวิ่งเข้าแทร็ก 3 สมัยซ้อนของโรงเรียน
ทว่าสุดท้าย ฟริตซ์ ก็ต้องเลิกเล่นเบสบอลไป เขามองไม่เห็นอนาคต เนื่องจากในยุคนั้น ลีกเบสบอลอาชีพยังห้ามคนผิวดำเข้าร่วมการแข่งขัน
ฟริตซ์ เบนเข็มมาเล่นอเมริกันฟุตบอลเต็มตัวในช่วงมัธยมปลาย ถึงแม้ลีกอเมริกันฟุตบอลอาชีพ ณ ขณะนั้นจะเต็มไปด้วยคนขาวมากกว่า 90% มีการเหยียดผิวและทำร้ายร่างกายนักกีฬาผิวดำเป็นเรื่องปกติ แต่อย่างน้อยก็ไม่มีกฎห้ามเอาไว้
พี่ชายของ ฟริตซ์ 3 คนก็เป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัยเช่นกัน พวกเขามักจะเล่าประสบการณ์แย่ๆที่ต้องเผชิญให้ ฟริตซ์ ฟังบ่อยๆ พร้อมคำสอนที่เด็กหนุ่มจำได้อย่างขึ้นใจ และยึดถือไว้อย่างมั่นคงตลอดช่วงชีวิตที่เป็นนักกีฬา..
“ห้ามตอบโต้ด้วยกำลังเด็ดขาด แม้จะเจอกับการยั่วยุแค่ไหนก็ตาม”
อย่างที่บอกว่า ฟริตซ์ เปี่ยมด้วยพรสวรรค์เรื่องกีฬา เขามีฝีเท้าที่เร็วอย่างน่าเหลือเชื่อ อีกทั้งสายตายังเฉียบคม ดังนั้น ต่อให้เปลี่ยนชนิดกีฬา ความยอดเยี่ยมของ ฟริตซ์ ก็ไม่ได้น้อยลง ตรงกันข้าม เขายังทำได้ดีถึงขั้นที่มหาวิทยาลัยบราวน์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับ Ivy League (มหาวิทยาลัยเอกชน 8 แห่ง ซึ่งมีคุณภาพการศึกษาดีเยี่ยม และเป็นที่ต้องการของนักศึกษาตลอดจนผู้จ้างงาน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยบราวน์, มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย, มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์, วิทยาลัยดาร์ตมัธ, มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย, มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน และ มหาวิทยาลัยเยล) มอบทุนการศึกษาให้เขา แลกกับการเข้าร่วมทีมอเมริกันฟุตบอล

แน่นอนว่าตั้งแต่วินาทีแรกที่ ฟริตซ์ กลายเป็นสมาชิกใหม่ของทีมอเมริกันฟุตบอลมหาวิทยาลัยบราวน์ ซึ่งมีเขาเป็นคนดำเพียงคนเดียว เขาก็ต้องเจอกับการเหยียดผิวแบบไม่ยั้งจากบรรดาเพื่อนร่วมทีม
“เราพยายามทำให้เขาโกรธ ยั่วยุด้วยการเหยียดผิว แต่ ฟริตซ์ จะยิ้มและหัวเราะกลับมาทุกครั้ง ผมไม่เคยเห็นเขาโกรธเลย” เออร์วิง เฟรเซอร์ เพื่อนร่วมทีมคนหนึ่ง เล่าให้ เจย์ เบอร์รี ผู้เขียนชีวประวัติของ ฟริตซ์ ฟัง
“เพื่อนร่วมทีมของเขาไม่คุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเขาเลย จนกระทั่งพวกเขาได้เห็นว่าคุณปู่มีความสามารถแค่ไหน” ฟริตซ์ พอลลาร์ด III หลายชายแท้ๆของ ฟริตซ์ กล่าวกับ BBC
แต่หลังจากนั้น บรรดาเพื่อนร่วมทีมก็เปลี่ยนท่าทีที่มีต่อ ฟริตซ์ ไปโดยสิ้นเชิง.. ทำไมน่ะเหรอ? ก็ ฟริตซ์ สามารถวิ่งทำระยะได้ 60-80 หลา ได้ง่ายๆ ราวกับเป็นเรื่องปกติธรรมดาน่ะสิ
“โค้ช เราต้องให้เขาเล่นนะ” เพื่อนร่วมทีมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน และหลังจากนั้น ฟริตซ์ ก็ขึ้นเป็นดาวเด่นของทีมอเมริกันฟุตบอลมหาวิทยาลัยบราวน์ทันที พร้อมกับฉายาสุดเท่ “มนุษย์ตอร์ปิโด”
ฟริตซ์ พาทีมโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมจน ม.บราวน์ ได้เข้าร่วมศึก Rose Bowl ซึ่งเป็นศึกใหญ่ที่สุดของอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัยในปี 1916 นอกจากนั้น ฟริตซ์ ยังสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้เล่นผิวดำคนแรกที่ได้เหยียบผืนหญ้าของ Rose Bowl อีกด้วย
ฟริตซ์ โดนเล่นนอกเกมแทบตลอดเวลา นอกจากนั้น กองเชียร์ข้างสนามยังตะโกนเหยียดผิวกันอย่างกึกก้อง มีรายงานว่ากองเชียร์ของมหาวิทยาลัยเยลถึงขั้นร้องเพลง “Bye Bye Blackbird” ซึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเหยียดผิวเนื้อหารุนแรงอีกด้วย โชคดีที่คราวนี้เพื่อนร่วมทีมอยู่ข้างเขา ทุกคนช่วยกันปกป้อง ฟริตซ์ เป็นอย่างดี
เสียงนกเสียงกาไม่มีความหมายใดๆ เพราะสุดท้าย ฟริตซ์ สามารถพาทีมคว้าแชมป์ Rose Bowl ได้สำเร็จ ด้วยสถิติ ชนะ 8 แพ้ 1 ก่อนที่ ฟริตซ์ จะกลายเป็นคนผิวดำคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อให้ติดทีม All-America
“หนึ่งในตัววิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ดวงตาคู่นี้เคยเห็นมา” วอลเตอร์ แคมป์ นักเขียนด้านกีฬาชื่อดังกล่าวถึง ฟริตซ์
ในขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย ฟริตซ์ ก็ต้องระเห็จเข้าไปอยู่ในกองทัพตามหน้าที่ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวสงครามโลกที่ 1 กำลังดุเดือด โดย ฟริตซ์ ประจำการเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกายภาพในค่ายทหารรัฐแมรี่แลนด์
ฟริตซ์ ต้องอยู่ในกองทัพนานถึง 2 ปี เขาคิดว่าอนาคตของเขากับอเมริกันฟุตบอลคงจบสิ้นแล้ว จนกระทั่งในปี 1919 เขาก็ได้รับโทรเลขที่ไม่คาดฝันฉบับหนึ่ง