แฟนบอลเข้าสนามไม่ได้ แล้วสโมสรในยุโรปจัดการขายตั๋วปียังไง ?

By | 10/02/2021

ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับตั๋วปีประจำฤดูกาล 2020-21 เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายน หรือ ทันทีที่ฤดูกาล 2019-20 จบลง สโมสรระดับแนวหน้าของโลก เช่น บาร์เซโลนา และ บาเยิร์น มิวนิค ประกาศว่า พวกเขาจะจัดจำหน่ายตั๋วปีแก่แฟนบอล แม้สถานการณ์ COVID-19 ยังน่าเป็นห่วง และมีการจำกัดแฟนฟุตบอลเข้าสู่สนาม

หากมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านสายตาของแฟนบอลนอกพื้นที่ (แฟนบอลต่างประเทศในไทย) การเปิดขายตั๋วปี ทั้งที่แฟนบอลไม่ได้รับอนุญาตเข้าสนาม ดูเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลนัก ยิ่งพิจารณาจากรายได้ที่ลดลงกันทั่วหน้า เนื่องจากวิกฤติโรคระบาด การจ่ายเงินเพื่อซื้อตั๋วปีที่ไม่รู้ว่าจะได้เข้าชมเกมการแข่งขันหรือไม่ คือค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

ตั๋วปี คือ สัญลักษณ์ของแฟนฟุตบอลพันธุ์แท้ ผู้ใดที่ถือครองบัตรรูปแบบนี้ ย่อมบ่งบอกว่า เขาคนนั้นจ่ายเงินก้อนโตล่วงหน้า แลกกับการการันตีที่นั่งในสนาม ตลอดทั้งฤดูกาลกระทั่ง วิกฤติ COVID-19 เกิดขึ้น การเข้าชมฟุตบอลในสนามกลายเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ถึงอย่างนั้น ตั๋วปีกลับวางจำหน่าย และขายดีเทน้ำเทท่า ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นกลยุทธ์, วิธีการ และเหตุผล ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการขายตั๋วปีของทีมฟุตบอลต่างประเทศ จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษา ไม่ว่าจะแง่มุมทางธุรกิจ หรือ ควาหมายของบัตรใบเล็กที่เรียกว่า “ตั๋วปี”

สำหรับแฟนฟุตบอลท้องถิ่น ความคิดข้างต้นไม่เคยอยู่ในหัวพวกเขา เพราะในประเทศที่กีฬาฟุตบอลฝังรากลึก จนเกิดเป็นวัฒนธรรม ตั๋วปีมีความหมายมากกว่า บัตรผ่านทางเพื่อเข้าชมเกมการแข่งขัน แต่เปรียบดั่งสัญลักษณ์ของการเป็นแฟนฟุตบอลเดนตาย ที่จงรักภักดีแก่สโมสรแห่งนั้น ไม่ว่าผลการแข่งขันจะเป็นเช่นไร

อุปสงค์ของตั๋วปีฤดูกาลปัจจุบัน จึงคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีแฟนบอลจำนวนมากที่อยากคว้าตั๋วปีไว้ในครอบครอง เพื่อตอบสนองความต้องการ สโมสรบางแห่งจึงเปิดขายตั๋วปี และเรียกเก็บเงินจากผู้ซื้อล่วงหน้า โดยไม่การันตีว่า แฟนบอลที่จ่ายเงินไปแล้วนั้น จะได้ตั๋วเข้าชมเกมในสนามหรือไม่